ความเชื่อของชาวอียิปต์คือผู้ที่สิ้นชีพควรมีสิ่งของติดตัวไปในการเดินทางสู่ชีวิตหลังความตาย ดังนั้น ศิลปะในพีระมิดและสุสานจึงไม่ใช่แค่ความเป็นศิลปะ ทว่าจริงๆแล้วภาพเหล่านั้นเป็นการถวายหรือมอบเสบียง คนรับใช้ และสิ่งของต่างๆ ที่ผู้วายชนม์ควรจะมีไว้ในอีกโลกหนึ่ง จริงอยู่ที่ในสมัยโบราณชาวอียิปต์นิยมเขียนภาพที่ผนังสุสาน แต่ในเวลาต่อมาพวกเขาก็หันมาเขียนบนกระดาษปาปิรุสและผ้าลินินที่ใช้ห่อศพมัมมี่แทน
เมื่อเร็วๆนี้มีการค้นพบที่น่าแปลกใจนั่นคือเศษผ้าลินินอายุ 2,300 ปีที่ใช้ห่อมัมมี่อียิปต์ ซึ่งเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ Teece Museum of Classical Antiquities แห่งมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี ในนิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญพบว่าชิ้นส่วนผ้าลินินห่อมัมมี่นี้มีความตรงกันกับชิ้นส่วนของผ้าห่อมัมมี่ที่อยู่กับสถาบันวิจัยเก็ตตี้ ในสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะอียิปต์จากมหาวิทยาลัยซินซินเนติ ในสหรัฐฯ เผยว่า ชิ้นส่วนของผ้าห่อศพดังกล่าวแสดงภาพและมนตร์คาถาจากคัมภีร์มรณะ (Book of the Dead) เขียนด้วยอักษรอียิปต์โบราณหรือเป็นต้นฉบับอักขระไฮเออแรติกมีอายุเก่าแก่ 300 ปีก่อนคริสตกาล
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าการเขียนลงบนวัสดุเป็นเรื่องยาก ต้องมีปากกาขนนกและมือที่มั่นคง ซึ่งบุคคลที่เขียนภาพนี้ถือว่ามีความชำนาญอย่างยอดเยี่ยม ส่วนเศษผ้าลินินมาจากผ้าพันมัมมี่ที่ฉีกขาดออกจากซากศพมัมมี่ชายที่มีนามว่าเปโตซิริส (Petosiris) ชิ้นส่วนต่างๆของผ้าผืนนี้ถูกแยกออกจากกันอย่างไรยังคงเป็นปริศนา แต่เรื่องราวของผ้าห่อศพมัมมี่กำลังถูกปะติดปะต่อกันอย่างช้าๆ.